MRI
Magnetic Resonance Imaging
MRI คืออะไร
MRI หรือ Magnetic Resonance Imaging คือ การตรวจร่างกายโดยการสร้างภาพเหมือนจริงของส่วนต่างๆของร่างกาย โดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ (Radiofrequency) ด้วยการส่งคลื่นความถี่เข้าสู่ร่างกาย และรับคลื่นสะท้อนกลับ นำมาประมวลผลและสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ให้รายละเอียดและความคมชัดเสมือน
การตัดร่างกายออกเป็นแผ่นๆ สามารถมองเห็นความผิดปกติในร่างกายได้อย่างละเอียด มีความปลอดภัยสูง และไม่มีรังสีเอกซ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
MRI ใช้ได้ดีในการตรวจสมอง ไขสันหลังและเส้นประสาทในร่างกาย สามารถมองเห็นรอยโรคได้อย่างชัดเจน เช่น ภาวะสมองขาดเลือดโดยเฉพาะในช่วงแรก และความผิดปกติบริเวณก้านสมอง (สามารถตรวจหาความผิดปกติได้ดีกว่าการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์) โรคเนื้องอกของสมอง และโรคลมชัก
MRI ใช้ได้ดีในการตรวจกระดูกสันหลังและระบบกล้ามเนื้อและข้อ ช่วยในการวินิจฉัยรอยโรคต่างๆ เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็นบริเวณข้อต่างๆ
MRI สามารถตรวจหลอดเลือดของอวัยวะต่างๆได้ดี (Magnetic Resonance Angiography,MRA) เช่น ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองหรือ การตีบตันของหลอดเลือดไต โดยไม่ต้องเจาะใส่สายสวนเพื่อฉีดสี มีความปลอดภัยสูงสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆทั้งก่อนและหลังการตรวจ และสามารถกลับบ้านได้ทันที
MRI สามารถตรวจช่องท้อง ท่อทางเดินน้ำดี และถุงน้ำดี (Magnetic Resonance Cholangiopancreatography,MRCP) ซึ่งให้ภาพที่ชัดเจนและเหมาะสำหรับการตรวจหาโรค เช่น นิ่วในทางเดินน้ำดี เนื้องอก หรือมะเร็งในท่อน้ำดีและบริเวณโดยรอบซึ่งทำให้เกิดการอุดตัน ตลอดจนสามารถแยกแยะเนื้องอกในช่องท้องได้ดี
ต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อเข้ารับการตรวจและมีขั้นตอนการตรวจอย่างไรบ้าง
-
ผู้ที่รับการตรวจร่างกายด้วย MRI จะต้องนำโลหะต่างๆออกจากตัว เช่น ATM บัตรเครดิต นาฬิกา ฟันปลอม และเครื่องประดับต่างๆไม่เช่นนั้น อาจจะทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้ภาพที่อยู่บริเวณโลหะไม่ชัด
-
ไม่ควรใช้อายชาโดว์และมาสคาร่า เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะ เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพได้
-
หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่พร้อมสำหรับการตรวจ ผู้รับการตรวจจะต้องนอนบนเตียงตรวจโดยมีเครื่องเครื่องจับสัญญาณคลื่นแม่เหล็ก (coil) วางบนร่างกาย ให้นอนสบายๆนิ่งๆและทำตามเสียงบอก
-
ร่างกายจะเคลื่อนเข้าสู่อุโมงค์ตรวจไปยังศูนย์กลางของสนามแม่เหล็ก อาจจะรู้สึกสั่นสะเทือนและไถลเล็กน้อยระหว่างที่มีการถ่ายภาพ
-
ขณะตรวจจะมีเสียงดังเป็นระยะๆจะมีฟองน้ำอุดหูเพื่อลดเสียง
-
ผู้รับการตรวจบางคนอาจต้องได้รับการฉีด contrast agent เพื่อทำการตรวจร่างกายเฉพาะส่วน
-
โดยทั่วไปไม่ต้องงดน้ำและอาหาร ยกเว้นการตรวจช่องท้อง หรือตรวจท่อน้ำดี (MRCP) ควรงด 4-6 ชั่วโมงก่อนรับการตรวจ
มีข้อห้ามหรือข้อพึงระวังในการตรวจ MRI หรือไม่
นับตั้งแต่มีการใช้ MRI ไม่พบรายงานถึงผลข้างเคียง แต่การใช้ MRI ก็มีข้อควรระวัง เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่มีปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กหรือคลื่นวิทยุดังนี้
-
ผู้ที่ใช้เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้เป็นจังหวะ (Pacemaker) ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของเครื่อง และมีผลต่อการทำงานของหัวใจได้
-
ควรระวังในรายที่มีสาร Ferromagnetic ฝังอยู่ในอวัยวะที่สำคัญร่างกาย เช่น เศษโลหะในลูกตา
-
ผู้ที่ผ่าตัดใส่เครื่องมือในการช่วยรับเสียง (Cochlear implant)
-
ผู้ที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm clips) ลิ้นหัวใจเทียม (Artifical cardiac valve) หรือใส่ท่อขยาย (Stent) ที่หลอดเลือดหัวใจ ถ้าใช้วัสดุรุ่นใหม่ที่เป็น MRI-compatible ก็สามารถตรวจ MRI ได้
-
ผู้ที่ผ่าตัดใส่โลหะในร่างกาย เช่น ดามกระดูกหรือเปลี่ยนข้อเทียม ต้องพิจาณาระยะเวลาหลังผ่าตัดและอวัยวะที่ตรวจ
-
ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่กลัวที่จะอยู่ในที่แคบ ไม่สามารถนอนในอุโมงค์ตรวจได้ (Claustrophobia)
-
ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันโรคไตเรื้อรังระยะรุนแรง (GFR<30mg/min/1.73m2) ไตวายเฉียบพลันทุกระดับความรุนแรงผู้ที่เป็น Hepatorenal syndrome หรือผู้ที่อยู่ระหว่างปลูกถ่ายตับ ควรหลีกเลี่ยง Gadolinnium-based MR contrast agent เนื่องจากมีการรายงานโรค Nephrogenic Systemic Fibrosis (NSF) ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตบกพร่อง
ติดต่อ กลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลกลาง
โทร. 02-220-8000 ต่อ 8068 , 10125