โครงการปลอดหนี้ ชีวีมีสุข
โครงการปลอดหนี้ ชีวีมีสุข
ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง นายแพทย์ชูวิทย์ ประดิษฐบาทุกา
ได้มีการประกาศนโยบายนโยบายปลอดหนี้ ชีวีมีสุขสำหรับบุคลากรของโรงพยาบาลกลาง
อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
จากการดำเนินงาน โครงการปลอดหนี้ ชีวีมีสุข ของโรงพยาบาลกลาง ซึ่งเริ่มขั้นตอนการรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อรวบรวมข้อมูลหนี้สินของบุคลากรมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ และตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๖ ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการปลอดหนี้ชีวีมีสุข หลายกิจกรรม เช่น การให้ความรู้เรื่องหนี้ในระบบ การรับมือการทวงหนี้จากสถาบันการเงิน การเจรจาประนอมหนี้นอกระบบโดยทีมคณะทำงานจากชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ร่วมกับ DSI การหารือร่วมกันระว่างโรงพยาบาลและที่ปรึกษาเพื่อวางแผนบริหารจัดการหนี้สินของผู้เข้าโครงการ การให้ความรู้เรื่องเครดิตบูโรและบริการตรวจสอบเครดิตบูโรฟรีสำหรับบุคลากรทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ
การดำเนินโครงการมีความก้าวหน้าโดยโรงพยาบาลกลางลงนามข้อตกลงร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาดิโอลด์สยามพลาซ่า และผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มแรกสมัครขอสินเชื่อกับธนาคารจำนวน ๖๕ คน ซึ่งโรงพยาบาลกลางยังคงมีแผนดำเนินการต่อสำหรับกลุ่มที่ยังไม่ได้ขอสินเชื่อ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลางคาดว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรจะช่วยให้บุคลากรมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและผู้รับบริการพึงพอใจ
ความคืบหน้าของการดำเนินกิจกรรมโครงการปลอดหนี้ชีวีมีสุข หลังจากที่ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง นายแพทย์ชูวิทย์ ประดิษฐบาทุกา ได้ประกาศนโยบายนโยบายปลอดหนี้ ชีวีมีสุขสำหรับบุคลากรของโรงพยาบาลกลาง อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ และลงนามข้อตกลงร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาดิโอลด์สยามพลาซ่า และผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มแรกสมัครขอสินเชื่อกับธนาคารจำนวน ๖๕ คน มีการแต่งตั้งคณะทำงานโครงการปลอดหนี้ชีวีมีสุข จำนวน ๓ ชุด เพื่อบริหารจัดการหนี้สินและดำเนินการชำระหนี้ให้กับบุคลากรกลุ่มที่ได้รับเงินกู้แล้ว
คณะทำงานได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการชำระหนี้ให้กับบุคลากร ในรายที่มีภาระหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์
วชิรพยาบาล ธนาคารออมสิน สวัสดิการโรงพยาบาลกลาง และบัตรเครดิตจำนวนเงินประมาณ ๕ ล้านบาทเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา และมีการเปิดบัญชีออมทรัพย์ ชื่อโครงการปลอดหนี้ชีวีมีสุข โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลางเป็นเจ้าของบัญชี เพื่อเป็นที่สำหรับเก็บรวบรวมเงินของบุคลากรที่กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และรอการไปชำระหนี้สินภายหลังจากที่มีการเจรจาประนอมหนี้กับสถาบันทางการเงินต่างๆและหนี้สินที่กู้ยืมมาจากนอกระบบ
และในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ ยังมีกิจกรรมการการให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้ที่ได้รับเงินกู้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการสร้างหนี้สินเพิ่ม และให้ทราบถึงวิธีการดำเนินชีวิตที่ลดการสร้างหนี้สินเพิ่มเติม รวมถึงสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้านกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการเซ็นสัญญาเงินกู้กับธนาคารและการค้ำประกันผู้อื่น หลัง จากนั้นได้ให้บุคลากรซ็นรับคืนสมุดบัญชีธนาคารของตนเอง รวมถึงตรวจสอบยอดเงินคงเหลือหลังจากที่มีการหักภาระหนี้สินแล้ว สำหรับบุคลากรกลุ่มนี้ยังต้องมีการติดตามในระยะยาว ๓-๕ ปี ต่อไป
ความคืบหน้าของโครงการปลอดหนี้ชีวีมีสุข ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ๒๖๐ คน ซึ่งมีหนี้สินในระบบและนอกระบบ ได้มีการดำเนินการจัดการหนี้สินในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๕๖ ได้จัดให้มีการเจรจาประนอมหนี้นอกระบบไปจำนวน ๓ ครั้ง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ส่งทีมวิทยากรมาช่วยในการเจรจาประนอมหนี้นอกระบบ และความช่วยเหลือของคณะทำงานจากชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ มีการเจรจาประนอมหนี้ไปแล้ว จำนวน ๔๔๑ ราย จากยอดหนี้นอกระบบจำนวน ๑๗,๘๙๒,๖๕๑ บาท สามารถลดหนี้ลงเหลือ ๑๓,๑๑๗,๔๖๗ บาท โดยลดเงินหนี้นอกระบบได้ ๔,๗๗๕,๑๘๔ บาท และการดำเนินการของโครงการที่จะทำต่อไปคือ การเจรจาประนอมหนี้ในระบบกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อลดหนี้ในระบบให้กับบุคลากร ที่จะต้องดำเนินการเจรจาหนี้ในระบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ๒๕๕๗
ความคืบหน้าของโครงการปลอดหนี้ชีวีมีสุข ในการช่วยเหลือบุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้หลักการรวมหนี้เป็นที่เดียวและให้ขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อนำมาชำระหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ กิจกรรมที่มีความสำคัญคือการเจรจาเพื่อประนอมหนี้ หนี้นอกระบบที่มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายวันหรือรายเดือน ได้จัดการเจรจาขึ้น ๔ ครั้งในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ – กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ยอดหนี้นอกระบบจำนวน ๖๑๘ ราย รวมเป็นเงิน ๒๙,๔๘๔,๒๒๗ บาท มีการเจรจาประนอมหนี้ไปแล้ว ๕๗๕ ราย ยอดหนี้ ๒๕,๒๓๖,๓๓๖ บาท ลดลงเหลือ ๑๘,๙๙๙,๗๙๕ บาท สามารถลดภาระหนี้ให้บุคลากรได้ ๖,๒๓๖,๕๔๑ บาท
ภายหลังการการเจรจาประนอมหนี้นอกระบบ โรงพยาบาลกลางได้ประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาดิโอลด์สยาม พลาซ่า เพื่อให้บุคลากรที่มีหนี้นอกระบบขอสินเชื่อมาชำระหนี้ โดยในครั้งนี้มีการขอสินเชื่อระยะสั้นในวงเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อมาชำระหนี้นอกระบบให้กับเจ้าหนี้ตามกำหนดนัด มีการขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาดิโอลด์สยาม พลาซ่า จำนวน ๑๓๔ ราย ยอดเงิน ๒,๓๙๖,๐๐๐ บาท
จากยอดเงินกู้ที่ได้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาดิโอลด์สยาม พลาซ่า ในรอบที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ และวันที่ ๑๒ กุมภาพัน์ ๒๕๕๗ ได้นำมาจัดการชำระหนี้นอกระบบตามที่โรงพยาบาลกำหนดนัดชำระให้กับเจ้าหนี้นอกระบบ ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ มีการเขียนเช็คจ่ายให้กับเจ้าหนี้นอกระบบจำนวน ๑๔๖ ราย ยอดหนี้ทั้งหมด ๙,๕๑๕,๘๙๘ บาท จากเงินของลูกหนี้ ๓๕๑ ราย และในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เขียนเช็คจ่ายให้กับเจ้าหนี้นอกระบบจำนวน ๒๐ ใบ ยอดเงิน ๑,๔๔๒,๙๑๐ บาท จากเงินของลูกหนี้ ๒๐ ราย รวมการจ่ายเช็คชำระหนี้นอกระบบหลังการเจรจาประนอมหนี้ เป็นการปลดภาระที่บุคลากรต้องจ่ายดอกเบี้ยรายวันและรายเดือนให้กับเจ้าหนี้นอกระบบ ได้ ๑๖๖ รายการ รวมหนี้นอกระบบที่ได้ชำระทั้งหมด ๑๐,๙๕๘,๘๙๘ บาท จากเงินของลูกหนี้ ๓๗๑ ราย โดยในรายที่ยังไม่มีการเจรจาประนอมหนี้นอกระบบหรือในรายที่ยังรอการขอสินเชื่อจากธนาคารอื่น จะมีการกำหนดนัดชำระต่อไป
สำหรับหนี้ในระบบซึ่งเป็นหนี้จากการบ้านหรือเครื่องอุปโภคบริโภค มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้สำหรับบุคลากรในเรื่องการเจรจาประนอมหนี้ในระบบรายบุคคลกับธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อชำระหนี้ปิดบัญชี และการรับมือกับการติดตามทวงหนี้ ซึ่งกิจกรรมสำคัญในการลดภาระหนี้ในระบบให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลคือการเจรจาประนอมหนี้ในระบบ โดยโรงพยาบากลางมีกำหนดนัดหารือกับสถาบันการเงินในการชำระหนี้ปิดบัญชีของบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ ห้องหลวงนิตย์ เวชชวิศิษฏ์ อาคารอนุสรณ์ ๑๐๐ ปี โรงพยาบาลกลาง
สรุปภาพรวมของโครงการปลอดหนี้ชีวีมีสุข สำหรับบุคลากรของโรงพยาบาลกลางในขณะนี้ มีบุคลากรเข้าร่วมโครงการจากโรงพยาบาลกลางจำนวน ๒๖๓ คน และจากหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน ๒๐ คน รวมจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ๒๘๓ คน ได้ชำระหนี้ทั้งหมดให้กับบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการจนเสร็จสินกระบวนการแล้วจำนวน ๓๙ คน คิดเป็น ๑๓.๗๘ %
ภาพ : ศูนย์พัฒนาคุณภาพ