Get Adobe Flash player
ป้ายโฆษณา

การฝึกการกระตุ้นกลืน ในผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องทางด้านการกลืน หรือภาวะกลืนลำบาก

ความบกพร่องทางด้านการกลืน หรือภาวะกลืนลำบาก ( Dysphagia)


เป็นความผิดปกติของการกลืน คือการกลืนที่ช้า กลืนลำบาก (กลืนติด กลืนไม่ลง) หรือการกลืนที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาท, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และผู้สูงอายุ เป็นต้นโดยภาวะกลืนลำบากเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆที่ตามมาเช่น ภาวะขาดน้ำ,น้ำหนักลด , ปอดอักเสบ และการอุดกลั้นของทางเดินหายใจ เป็นต้น1,2
กิจกรรมการรับประทานอาหารถือเป็นขอบเขตหนึ่งของกิจกรรมด้านกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมการดูแลรักษาตนเอง(Activity of Daily Living) เมื่อบุคคลมีความบกพร่องทางด้านการกลืน หรือ กลืนลำบาก4 จึงมีผลทำให้ความสามารถในการรับประทานอาหารได้ด้วยตนเองด้วยความปลอดภัยลดลง ดังนั้นงานกิจกรรมบำบัดจึงมีบทบาทในการกระตุ้นรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อาการและอาการแสดงของภาวะกลืนลำบาก ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีความผิดปกติ
1. Oral phase เป็นระยะแรกของการกลืนที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจ เราสามารถควบคุมให้มีการกลืนหรือไม่มีการกลืนในระยะนี้ได้ เมื่ออาหารถูกคลุกเคล้าเปลี่ยนเป็นคำพร้อมกลืนแล้ว จะถูกดันเข้าสู่คอหอย (Oropharynx)ขณะเดียวกันปากจะปิดสนิท เพื่อให้ช่องปากเป็นช่องปิด3,8
ถ้ามีความผิดปกติในระยะนี้ จะมีน้ำและอาหารไหลทางมุมปาก (Drooling) , อาหารอยู่ที่กระพุ้งแก้ม (Squirreling ) , กลืนยากต้องกลืนหลายครั้ง (Repeated swallowing attempts) การเคี้ยวไม่ปกติ อาหารไหลลงสู่คอหอยก่อนกลืน (Premature spillage)1
2. Pharyngeal phase เป็นระยะที่อาหารผ่านคอหอยลงสู่หลอดอาหาร ระยะนี้จะมีการหดตัวขึ้นของเพดานอ่อน (Soft palate) เพื่อไม่ให้อาหารไหลย้อนกลับเข้าจมูก และมีการเคลื่อนไหวของฝาปิดกล่องเสียง(Epiglottis)และกล่องเสียงยกขึ้นไปปิดหลอดลม(Trachea) จึงป้องกันไม่ให้อาหารลงหลอดลม3,8
ถ้ามีความผิดปกติในระยะนี้ จะมีอาการสำลักขึ้นจมูก(Nasal regurgitation), เศษอาหารตกค้างในช่องคอหอย (Pharyngeal residue) จำนวนมาก, เกิดอาการไอหรือสำลักขณะกลืน1
3. Esophageal phase ระยะนี้อาหารผ่านเข้าสู่หลอดอาหาร แล้วมีการบีบตัวของหลอดอาหาร (Peristalsis) ให้อาหารผ่านเข้าสู่กระเพาะอาหาร3,8
ถ้ามีความผิดปกติในระยะนี้ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนมีอาหารติดอยู่ (Food Sticking) และอาการแสบร้อนที่บริเวณอกได้ (Heartburn)1

การประเมินทางคลินิกกิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางด้านการกลืน
1. การซักประวัติและทบทวนแฟ้มประวัติของผู้ป่วย ที่เกี่ยวกับปัญหาความบกพร่องทางด้านการกลืน ปัจจัยที่มีผลต่อการกลืน เช่น ลักษณะอาหารที่ผู้ป่วยกลืนลำบาก หรือกลืนแล้วทำให้สำลัก และท่าทางขณะกลืน เป็นต้น รวมถึงข้อมูลทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยได้รับ การผ่าตัด ข้อควรระมัดระวัง ระดับการรู้สึกตัวของผู้ป่วย ชนิดของอาหารที่ได้รับในปัจจุบัน สภาวะจิตใจ (Psychosocial status) ความวิตกกังวล (Subjective complaints) และการบำบัดรักษาจากวิชาชีพต่างๆ1,3
2. การตรวจประเมินองค์ประกอบที่สำคัญต่อกิจกรรมการกิน ซึ่งประกอบด้วย
2.1 การประเมิน Primitive Oral Reflexes ได้แก่
2.1.1 Root Reflex
วิธีทดสอบ : ใช้นิ้วมือลูบเบาๆที่แก้มจากบริเวณมุมปากเคลื่อนไปยังใบหู ทำแบบนี้ทั้งซ้ายและขวา
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยจะหันศีรษะมาทางด้านที่ถูกกระตุ้น พร้อมกับห่อริมฝีปาก กระดกลิ้นขึ้น เตรียมพร้อมที่จะดูด3,8
2.1.2 Lip Reflex
วิธีทดสอบ : ใช้มือลูบเบาๆจากบริเวณแก้มถึงมุมปาก
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยจะมีการย่นและดึงกลับริมฝีปากสลับกันอย่างรวดเร็ว
2.1.3 Sucking Reflex
วิธีทดสอบ : ใช้นิ้วมือหรือไม้กดลิ้นพันผ้ากรอซ ใส่เข้าในปากและหมุนไปแนวกลาง ของริมฝีปาก ส่วนหน้าของลิ้น เหงือก หรือเพดานแข็ง
ปฏิกิริยาตอบสนอง:ผู้ป่วยจะห่อริมฝีปากรอบๆนิ้วมือหรือไม้กดลิ้น พร้อมกับดูด3,8
2.1.4 Snout Reflex
วิธีทดสอบ : ใช้นิ้วมือสองนิ้วเคาะรอบริมฝีปาก
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยทำริมฝีปากยื่น
2.1.5 Cephalic Reflex
วิธีทดสอบ : ใช้นิ้วมือสองนิ้วเคาะแก้มทั้งสองข้าง คาง และหน้าผาก
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยจะมีการกระตุกศีรษะออกจากสิ่งกระตุ้น หรือ สั่น/ส่ายศีรษะหนี หรือปิดตาแน่น3,8
2.1.6 Mouth Reflex
วิธีทดสอบ : สัมผัสเบาๆตรงกลางริมฝีปาก
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยจะเปิดปาก (อ้าปาก)3,8

2.1.7 Bite Reflex
วิธีทดสอบ : ใช้ไม้กดลิ้นพันผ้ากรอซใส่เข้าในปาก โดยให้อยู่ระหว่างฟันบนและฟันล่าง
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยจะใช้ฟันกัดไม้กดลิ้นอย่างรวดเร็ว3,8
2.1.8 Chew Reflex
วิธีทดสอบ : ถูเบาๆบริเวณด้านหน้าและด้านข้างของฟัน
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยจะทำท่าเคี้ยว โดยไม่ปิดขากรรไกร (เป็นการเคี้ยวที่ผิดปกติ)3,8
2.2 การประเมิน Normal Oral Reflexes ที่จำเป็นในการกลืน ได้แก่
2.2.1 Jaw Reflex
วิธีทดสอบ : ใช้นิ้วมือสองนิ้ววางบนคางในแนวนอน แล้วลูบไปด้านตรงข้าม
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยจะปิดงับขากรรไกรอย่างรวดเร็วและแรงเกินไป ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นผลของ Bite Reflex 3,8
2.2.2 Gag Reflex
วิธีทดสอบ : ใช้ไม้กดลิ้นเข้าไปแตะบริเวณโคนลิ้น
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยจะแสดงอาการสำรอกอาหาร ซึ่งเป็นผลของการหดตัวของกล้ามเนื้อของกล่องเสียง 3,8
2.2.3 Swallow Reflex
วิธีทดสอบ : ให้ผู้ป่วยกลืนน้ำลาย หรือ ให้นำอาหารวางบนลิ้นใกล้โคนลิ้น
ปฏิกิริยาตอบสนอง : ผู้ป่วยจะหดลิ้นกลับเพื่อกลืนอาหารลงไป3,8
2.2.4 Cough Reflex
วิธีทดสอบ : ทำให้คอระคายเคือง
ปฏิกิริยาตอบสนอง : มีการหดตัวของกะบังลม การยกตัวขึ้นของกล่องเสียง และมีการหดตัวของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับคอหอย ซึ่งเป็นผลจากการไอ 3,8
3. การประเมินเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึกของอวัยวะที่เกี่ยวกับการกลืน
(Oro-Motor-Sensory Evaluation)
การควบคุมริมฝีปาก (Lip control)
ให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวริมฝีปากในทิศทางต่างๆเช่น การห่อปาก (Pursing) , การฉีกยิ้มกว้างๆ(retraction) และการปิดริมฝีปาก รวมถึงสังเกตภาวะสมดุลของริมฝีปากทั้งสองด้านขณะเคลื่อนไหว ซึ่งมีการแปลผลได้ 3 ลักษณะคือ ปกติ (intact) , บกพร่อง (impaired) และไม่สามารถทำได้ (absent)6,5,9
การควบคุมขากรรไกร (Jaw control)
ในภาวะปกติ กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และช่องปากจะคลายตัว ขากรรไกรจะอยู่ในลักษณะสมดุล(Symmetry) กันทั้งสองข้างและสามารถเคลื่อนไหว ในทิศทางยื่นมาด้านหน้า (protraction) , ดึงกลับไปด้านหลัง (retraction) , เอียงซ้ายและขวา (lateral motion) และยกขึ้นลง(elevation) ได้คล่องแคล่ว6,5,9
การควบคุมลิ้น (Tongue control)
- ต้องดูลักษณะทั่วๆไปของลิ้นและขณะพัก ลิ้นอยู่ในภาวะสมดุลหรือไม่(Symmetry)
- มีภาวะลิ้นยื่นเข้าและออกช่องปากตลอดเวลา(Tongue thrust) หรือไม่ ซึ่งจะมีผลทำให้การปิดปากไม่ได้ กลืนลำบาก
- ดูว่าผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวลิ้นไปในทิศทางต่างๆเช่น แลบลิ้น , กระดกลิ้นขึ้นลง , หดลิ้นเข้าปาก , แลบลิ้นไปทางซ้าย-ขวา และวนรอบริมฝีปากได้หรือไม่6,5,9
3.4 การประเมินเพดานอ่อน (Velum/Soft palate assessment)
- ความสมดุลขณะพัก(Symmetry at rest) โดยการให้ผู้ป่วยอ้าปาก แล้วให้สังเกตเพดานอ่อน ว่ามีเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่
- ความสมดุลขณะเคลื่อนไหว(Symmetry during movement) โดยการกระตุ้นให้ผู้ป่วยออกเสียง " อา" แล้วสังเกตความสมดุลของเพดานอ่อน
ข้อสังเกต
- ภาวะอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของเพดานอ่อน ก็จะพบว่ามีการเอียงของเพดานอ่อนไปอีกด้านหนึ่ง(Asymmetry)
- ภาวะเสียงขึ้นจมูก(Hypernasality of speech)
ซึ่งทั้งสองภาวะนั้นจะทำให้พบการขย้อนอาหารออกทางจมูกได้ (Nasal regurgitation)6,5,9
3.5 การเคลื่อนไหวของกล่องเสียง(Laryngeal Excursion)
- ให้ผู้ทดสอบหรือนักกิจกรรมบำบัดใช้ปลายนิ้ว 3 นิ้ว วางบริเวณลำคอ แล้วกระตุ้นให้ผู้ป่วยกลืน ผู้ทดสอบหรือนักกิจกรรมบำบัดรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนขึ้นของคอหอย
- ถ้ามีภาวะบกพร่องจะมีผลต่อการกลืน จะทำให้กลืนลำบากและอาจมีผลต่อการเกิดการสำลัก(Aspiration)ได้6,5,9
3.6 การประเมินการรับความรู้สึกของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง(The sensory evaluation)
จะประเมินเกี่ยวกับการรับรส ,การสัมผัส ,อุณหภูมิ โดยใช้สำลีพันปลายไม้แตะบริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น
ริมฝีปาก : แตะบริเวณด้านข้าง ซ้าย ขวา และกลางริมฝีปาก
ลิ้น : แตะบริเวณด้านข้าง ซ้าย ขวา และกลางลิ้น
เพดานแข็ง : แตะบริเวณด้านข้าง ซ้าย ขวาและกลางเพดานแข็ง
เพดานอ่อน : แตะบริเวณด้านข้าง ซ้าย ขวาและกลางเพดานอ่อน
กระพุ้งแก้ม : แตะบริเวณด้านใน ด้านนอกของกระพุ้งแก้ม
และให้ผู้ป่วยบอกว่ามีความรู้สึกหรือไม่ และบริเวณใดของอวัยวะเหล่านั้น6,5,9
วิธีการรักษาภาวะกลืนลำบาก
1. การรักษาโดยตรง เป็นวิธีการที่กระทำโดยตรงต่อผู้ป่วย เช่นการกระตุ้นและออกกำลังอวัยวะที่เกี่ยวกับการกิน , การกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ(Reflex) ที่จำเป็นกับการกิน , เทคนิคการรักษาภาวการณ์กลืนลำบาก เป็นต้น8
2. การรักษาทางอ้อม เป็นวิธีที่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะกลืนลำบาก เช่น ภาวะโภชนาการ , ท่าทางขณะรับประทานอาหาร , ความปลอดภัยขณะกลืน ,ลักษณะของอาหาร และความรู้ของครอบครัวเกี่ยวกับภาวะกลืนลำบาก8
4. การรักษาภาวะกลืนลำบาก
4.1 การกระตุ้นการรับสัมผัสของปาก (Oral Tactile Stimulation)
เทคนิคนี้การกระตุ้นก่อนการรับประทานอาหาร เป็นการให้การรับสัมผัส (Tactile sensation) ร่วมกับการรับรส (Taste stimulation) เพื่อกระตุ้นให้มีการหลั่งของน้ำลายเพิ่มขึ้น น้ำลายจะช่วยในการหล่อลื่นและสลายอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการย่อยอาหาร
วิธีการกระตุ้น ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าทางที่เหมาะสม 3,8
- ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำมะนาวเป็นอุปกรณ์กระตุ้น
- แบ่งเหงือกด้านบน ล่าง เป็นสี่ส่วน
- ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำมะนาวเริ่มถูที่จุดกึ่งกลางของเหงือกด้านบนไปกลับ(ส่วนที่หนึ่ง)และทำอีกสามส่วนที่เหลือเหมือนกันจนครบ จึงนำสำลีพันปลายไม้ออกจากปากผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยกลืนภายใน 5 วินาที(ใช้แรงกดเบาๆและสม่ำเสมอ)
- สามารถใช้วิธีการกระตุ้นนี้ 2-3 ครั้งต่อวัน ก่อนอาหาร
- สามารถเพิ่มการกระตุ้นที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานแข้ง
- ข้อควรระวังห้ามกระตุ้นไปทางด้านหลังมากเกินไป จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการสำรอกอาหารได้3,8
4.2 ท่าทางที่เหมาะสมในการกระตุ้นกลืน (Therapeutic positioning)
- ศีรษะอยู่ในแนวกลางลำตัว หรือ หมุนไปข้างที่อ่อนแรง ( ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก )
- ไหล่ไปด้านหน้าเล็กน้อย
- มีอุปกรณ์หรือหมอนรองร่างกายส่วนบน
- ข้อศอกมีอุปกรณ์หรือหมอนรอง หรือวางบนโต๊ะ
- แขนข้างที่อ่อนแรงกางและข้อศอกงอเล็กน้อย3,8
4.3 การออกกำลัง/เพิ่มการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่เกี่ยวกับปาก
4.3.1 การฝึกการเคลื่อนไหวของริมฝีปากและแก้ม
- เปิดและปิดริมฝีปากอย่างช้าๆ และต้องปิดริมฝีปากให้สนิท
- เม้มริมฝีปากแล้วเปิดปากพร้อมปล่อยลมแรงๆ(Pucker)ริมฝีปากค้างไว้ แล้วค่อยคลายออก
- ยิ้มปากกว้างค้างไว้แล้วค่อยคลายออก
- เม้มริมฝีปากให้แน่นแล้วค่อยคลายออก
- ให้กิจกรรมการเป่าต่างๆ ( Blowing exercises ) เช่นการเป่านกหวีด , เป่ากบ , เป่าฟองสบู่เทียนไข3,8
4.3.2 การฝึกการเคลื่อนไหวของลิ้น
- ให้ผู้ป่วยแลบลิ้นและพยายามใช้ลิ้นแตะจมูก
- ให้ผู้ป่วยใช้ลิ้นวนแตะรอบริมฝีปาก
- ให้ผู้ป่วยใช้ลิ้นไปด้านซ้าย , ด้านขวา
- ให้เลียขนมหวาน เช่น อมยิ้ม หรือขนมที่ติดกับปลายไม้ ( lollipop )3,8
4.3.3 การฝึกการเคลื่อนไหวขากรรไกร
- เปิดปากกว้างและออกเสียง " อา "
- ปิดปากแล้วขยับขากรรไกรไปทางซ้ายและทางขวา3,8
4.3.4 การฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะและคอ
- ยื่นศีรษะไปด้านหน้าเล็กน้อย ค้างไว้
- หันศีรษะจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง
- หมุนศีรษะจากขวา , ไปข้างหน้า , ซ้ายและไปข้างหน้า
- ดึงไหล่ไปข้างหลัง ( retract scapula ) แล้วข้างไว้
- ยกไหล่ให้ชิดใบหูโดยทำทีละข้าง
- พยายามให้ใบหูชิดหัวไหล่ให้ได้3,8
5. ใช้เทคนิคการรักษาของกิจกรรมบำบัด
5.1 เทคนิคการกระตุ้นให้มีการเปิดปาก ( Facilitating techniques : Mouth Opening )
- ใช้นิ้วหรือช้อนแตะเบาๆที่ริมฝีปาก
- ใช้นิ้วแตะเบาที่คางและให้ผู้ป่วยอ้าปาก
- ออกแรงกดสม่ำเสมอ บริเวณใต้คางในทิศทางขึ้น
- ออกแรงกดกล้ามเนื้อ Digastric (เป็นกล้ามเนื้อที่มีรูปร่างคล้ายตัว " V "อยู่ใต้คาง)3,8
5.2 เทคนิคการกระตุ้นให้ปิดปาก ( Facilitating techniques : Mouth Closure )
- ใช้เทคนิคการเคาะ( Tapping ) บริเวณคางและแก้มจะกระตุ้นให้เกิดการปิดปาก
- กดเบาๆบนริมฝีปากด้านบนบริเวณใต้จมูก3,8
5.3 เทคนิคกระตุ้นให้มีการกลืน (Swallowing)
- ใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลาง ลูบพร้อมออกแรงกดพอสมควร บริเวณด้านข้างกล่องเสียงในทิศทางขึ้น เริ่มจากกระดูกไหปลาร้าขึ้นไปจนถึงใต้คาง พร้อมกับบอกให้ผู้ป่วยกลืน ให้ทำซ้ำประมาณ 5 ครั้ง
- กดเบาๆที่กล่องเสียง(Larynx)โดยตรง
- ให้ผู้ป่วยปิดปากเอง หรือใช้มือของนักกิจกรรมบำบัดปิดปากของผู้ป่วย แล้วให้ผู้ป่วยกลืน
- ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดอย่างสม่ำเสมอ (Firm tactile pressure) ใต้คางบริเวณโคนลิ้น3,8
5.4 เทคนิคการกระตุ้นการรับความรู้สึก (Thermal stimulation techniques)
- ใช้ mirror แช่น้ำแข็งลูบทางเชื่อมระหว่างปากกับคอหอย 5-6 ครั้ง
- นำกระจกมาแช่น้ำแข้งนาน 2-3 วินาที และนำกลับไปกระตุ้นซ้ำอีก 3-5 รอบ
- หลังจากการกระตุ้น ให้ผู้ป่วยกลืนน้ำเย็นซ้ำอีกครั้ง (ให้ในปริมาณที่น้อย)
- การกระตุ้นนี้ควรกระตุ้นก่อนถึงเวลาของมื้ออาหาร3,8
5.5 เทคนิคการลดการตอบสนองแบบกัด (Desensitization techniques : Bite Reflex)
- ถูและลูบด้วยแรงกดเล็กน้อยบริเวณริมฝีปาก เหงือก และลิ้น แบบต่อเนื่อง
- ใช้อุปกรณ์กดบริเวณแนวกลางใกล้ๆปลายลิ้นต่อเนื่องไปถึงส่วนโคนลิ้นอย่างช้าๆ ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง ก่อนมื้ออาหาร ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มี Bite reflex ที่รุนแรง3,8
5.6 เทคนิคการลดการตอบสนองแบบสำรอก(Hyperactive Gag Reflex)
- จัดสถานที่รับประทานอาหารให้สบายๆ เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายจากสิ่งกระตุ้นจากภายนอก
- ควรรับประทานอาหารเพียงคำเล็กๆ9
- ห้ามรับประทานอาหารเป็นก้อนๆหรืออาหารที่แห้งๆ9
5.7 เทคนิคการกระตุ้นการตอบสนองแบบสำรอก(Hypoactive Gag Reflex)
- ให้ก้มศีรษะไปด้านหน้าเล็กน้อยขณะกำลังกลืนอาหาร
- ใช้สำลีพันปลายไม้ซุบน้ำมะนาวนวดลิ้นไก่และเพดานอ่อน
- ใช้สำลีพันปลายไม้ซุบน้ำมะนาวนวดบริเวณโคนลิ้นนาน 10-15 นาทีแล้วหยุด
- ถ้าเหตุการณ์ตอบสนองของลิ้นให้หยุดการกระตุ้น3,8
6.ลักษณะอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะการกลืนลำบาก
ควรเป็นอาหารที่มีกากน้อย มีการดัดแปลงเนื้ออาหาร (Texture) โดยการใช้การปั่น ถ้าเป็นของเหลวต้องทำให้ข้นขึ้นโดใช้แป้งมันหรือแป้งข้าวโพดเพื่อให้เป็นเนื้อเดียวกันมีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลวคล้าแป้งเปียก (Semi liquid) เนื้ออาหารไม่หยาบ เป็นอาหารที่กระตุ้นการกลืนและลดสิ่งคัดหลั่ง (mucous) ที่เกิดขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารเหลวเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้8

อาหารของผู้ป่วยที่มีภาวการณ์กลืนลำบาก (Dysphasia) แบ่งออกเป็น 4 ระดับดั้งนี้
1. Think Puree - No Liquid : อาหารปั่นข้นเป็นเนื้อเดียวกัน
เป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยที่เริ่มการรับประทานอาหารทางปาก หรืผู้ป่วยที่ไมสามารถเคี้ยวอาหารแข็งหรือกลืนอาหารเหลวได้ อาหารที่มีลักษณะเป็นข้นเป็นเนื้อเดียวกันหรืออาหารที่ที่สามารถบังคับการเคี้ยวและกลืนได้ เช่น เยลลี , แยม, เนยถั่ว, สังขยา, ไข่ตุ่น, ฟักทองบด เป็นต้น8
2. Thick and thin puree - thick liquids : อาหารปั่นข้นมากและข้นปานกลาง
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เคี้ยวได้บ้างเล็กน้อย แต่ไม่สามารถกลืนอาหารที่เป็นน้ำเหลวๆได้โดยไม่สำลัก อาหารชนิดนี้อาจจะมีส่วนผสมของของเหลวมากกว่าชนิดแรก เช่น โจ๊กข้น , ไข่ลวก, ครีมซุปข้น, ซีเรียลผสมนม8
3. Mechanical soft - Thick liquids : อาหารอ่อนมีน้ำขลุกขลิก
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เคี้ยวลำบากและมีปัญหาการกลืนอาหารบางชนิดหรือผู้ป่วยไม่มีฟัน ใส่ฟันปลอม อาหารอ่อนเคี้ยวง่ายไม่มีเปลือกหรือเปลือกแข็ง อาจจะบดหรือสับหยาบ เช่น ข้าวต้มข้น , มักกะโรนี, แพนเค้ก, ผลไม้สุก (กล้วย, ฝรั่งสุก, เนื้อส้มไม่มีเยื่อหุ้ม) งดถั่ว อาหารถอดกรอบ8
4. Mechanical soft diet - liquids as tolerated : อาหารอ่อนปรกติเท่าที่ผู้ป่วยจะรับได้ ไม่จำเป็นต้องบดหรือสับ
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องการกลืนเล็กน้อย สามารถเคี้ยวอาหารอ่อนได้ และกลืนของเหลวได้8

  

เอกสารอ้างอิง

1. ภัทรา วัฒนพันธ์.การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของการกลืน.เอกสารประชุมวิชาการประจำปี2550.คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550.
2. สร้อยสุดา วิทยากร.การประเมินผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก.เอกสารประกอบการสอนวิชา 513423.คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2549.
3. สร้อยสุดา วิทยากร.การฟื้นฟูสภาพในกิจกรรมการบริโภคสำหรับเด็กสมองพิการ.เชียงใหม่: งานส่งเสริมการวิจัยและตำรา กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2536.
4. American Occupational Therapy Association. Specialized Knowledge and skill in Eating and Feeding for Occupational Therapy Practice. American Journal of Occupational Therapy 2000; 54:629-640.
5. Denise Reid, Kala Subramaniam. Knowledge use among occupational therapists for infant feeding assessments. Canadian Journal of Occupational Therapy2003; 70:243-247.
6. Jeffrey B, Jennifer C, Mikoto Baba. Evaluation and Treatment of Swallowing Impairments. AFP 2000; 61:2453-62.
7. Sliverman E, Elfant I, Dysphagia: An Evaluation and Treatment Program For Adult. American Journal of Occupational Therapy1979;33:382-392.
8. Sirindhorn National Medical Rehabilitation Center. Dysphagia management of the adult. Bangkok. Theptarin Hospital, 1997.
9. CAOT Publications Ace,.htt://www.caot.ca/otnow/novo5/swallowing.pdf.Access on January 3,2007.

 

bma-health map

ป้ายโฆษณา

วารสารโรงพยาบาล

ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา