วัสดุตีพิมพ์
วัสดุตีพิมพ์
วัสดุห้องสมุด (Library Materials) หมายถึงวัสดุที่ใช้เพื่อการอ่าน และการศึกษาค้นคว้าทุกรูปแบบ ทุกสาขาวิชา ซึ่งห้องสมุดได้จัดหามา และจัดเก็บรวบรวมเอาไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุด
การจัดกลุ่มวัสดุห้องสมุด
วัสดุห้องสมุด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1.วัสดุตีพิมพ์ ( Printed Materials)
2.วัสดุไม่ตีพิมพ์ ( Non- Printed Materials)
1. วัสดุตีพิมพ์ ( Printed Materials ) ได้แก่ เอกสาร ตำรา วารสาร หนังสือพิมพ์ จุลสารและกฤตภาค ซึ่งห้องสมุด จะแบ่งกลุ่มวัสดุตีพิมพ์ออกตามความเหมาะสมของการให้บริการ และลักษณะเฉพาะของสิ่งตีพิมพ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริการสะดวกในการตัดสินใจเลือกใช้ข้อมูลยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มในการให้บริการ ดังนี้
1.1 ตำราทั่วไป ได้แก่ สิ่งพิมพ์ทางการแพทย์ พยาบาล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีเนื้อหาเสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพทั้งทางด้านทฤษฏีและปฏิบัติ เช่น ตำราทางอายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูตินรีเวชกรรม กุมารเวชกรรม จักษุวิทยา โสต ศอ นาสิก ลาลิงซ์ เภสัชกรรม และการพยาบาล เป็นต้น นอกจากนั้นยังครอบคลุมถึงสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทางด้านการบริหาร การศึกษา วิจัย เป็นต้น
1.2 หนังสืออ้างอิง ( Reference Books) ได้แก่ หนังสือที่ห้องสมุดไม่อนุญาตให้ยืมออกจากห้องสมุด เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากหนังสือทั่วไป และเป็นหนังสือหายาก เป็นหนังสือที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่ม โดยจะใช้เป็นเพียงแหล่งค้นคว้าอ้างอิง หาข้อเท็จจริงบางอย่าง หรือหาคำตอบที่ต้องการและสงสัยเท่านั้น หนังสออ้างอิงของห้องสมุด ได้แก่
1.2.1 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
1.2.2 พจนานุกรมทางการแพทย์
1.2.3 พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย และ ไทย-อังกฤษ
1.2.4 สารานุกรมศึกษาศาสตร์
1.2.5 พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ และพระราชกรณียกิจ
1.2.6 ประวัติบุคคลสำคัญ
1.2.7 หนังสือที่มีลักษณะพิเศษอื่น ๆ
ข้อสังเกตที่จะทำให้ทราบว่าหนังสือเล่มใดเป็นหนังสืออ้างอิงนั้นที่สันหนังสือจะมีอักษร “อ” อยู่เหนือเลขเรียกหนังสือ
1.3 วารสารและหนังสือพิมพ์ ( Journals and Newspaper ) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ให้ข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด และมีกำหนดตีพิมพ์ที่แน่นอน เนื่องจากช่วงเวลาการตีพิมพ์ของสิ่งพิมพ์ชนิดนี้ เป็นตัวกำหนดให้เนื้อหา ต้องแสดงถึงความก้าวหน้า และเป็นเรื่องใหม่ในวงการอยู่เสมอ ดังนั้น วารสารและหนังสือพิมพ์จึงเป็นสิ่งพิมพ์ที่ต้องอ่าน และขยันเข้าห้องสมุดบ่อยขึ้น เพื่อที่จะทำให้ทราบถึงความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าในวงการได้ทันต่อเหตุการณ์ ในอันที่จะนำความรู้จากการศึกษาค้นคว้าไปพัฒนาวิชาชีพต่อไป
1.4สิ่งพิมพ์รัฐบาล ( Government Publications) คือเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ทุกประเภทที่หน่วยงานของรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทั้งการจัดพิมพ์และค่าใช่จ่าย เพื่อใช้เป็นเอกสารหลักฐานทางราชการ ซึ่งสิ่งพิมพ์เหล่านี้อาจแสดงถึงผลงานของรัฐที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว เป็นบันทึกความก้าวหน้าของหน่วยงาน เป็นการเสนอแนวทางการปฏิบัติงาน หรือเป็นประกาศต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อการบังคับใช้ เช่น ราชกิจจานุเบกษา รายงานสถิติ ร่างกฎหมายและมติต่าง ๆ บันทึกและรายงานการประชุม ทำเนียบนาม กฎหมายและประมวลกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น
1.5 จุลสาร ( Pamphlets ) เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีขนาดเล็ก ความหนาไม่เกิน 60 หน้า มีเนื้อหาทางการแพทย์ พยาบาล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์และสาธารณสุข
1.6 กฤตภาค ( Clippings ) เป็นวัสดุที่ห้องสมุดจัดทำขึ้น โดยคัดเลือกตัดบทความที่มีเนื้อหาทางการแพทย์ พยาบาล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์และสาธารณสุข จากหนังสือพิมพ์ และวารสาร แล้วติดผนึกกาวลงบนกระดาษอัดสำเนา และกำหนดหัวเรื่อง พร้อมบอกแหล่งที่มา เก็บรวบรวมไว้ในแฟ้ม โดยเรียงหัวเรื่องเดียวกันเก็บไว้ในแฟ้มเดียวกัน จัดเรียงแฟ้มไว้ในตู้จุลสารและกฤตภาค ตามลำดับอักษรของหัวเรื่อง
1.7 หนังสือประเภทกึ่งวิชาการ สารคดี บันเทิง จรรโลงใจ เป็นหนังสือที่มุ่งให้ความบันเทิง และสาระแก่ผู้อ่าน มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ห้องสมุดได้จัดไว้บริการในส่วนของ บริการพิเศษ คือ โครงการบริการห้องสมุดเคลื่อนที่ ซึ่งมุ่งเน้นบริการให้กับคนไข้ตามหอผู้ป่วยสามัญประเภทต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่สามารถเลือกอ่าน และใช้บริการได้ตามระเบียบการใช้บริการของห้องสมุด