SUMMER…Dangerous
SUMMER…Dangerous !
คณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล
ฤดูร้อนเป็นฤดูที่มีความเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย โรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูร้อนที่จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เป็นโรคที่เข้าสู่ร่างกาย โดยการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โรคที่พบบ่อย ได้แก่
1. โรคอุจจาระร่วง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อต่างๆได้หลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ
อาการสำคัญ ได้แก่ ถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด โดยทั่วไปมักจะอาเจียนร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงมาก
2. โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า เชื้อรา เห็ด หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบ ๆ รวมทั้งอาหารกระป๋อง และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
อาการ จะเกิดขึ้นภายใน 2-6 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อ ได้แก่ มีไข้ ปวดท้อง เนื่องจากเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ซึ่งถ้าถ่ายมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้
3. โรคบิด เป็นโรคที่เกิดจาก เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า Shigella
อาการสำคัญ ได้แก่ ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่งร่วมด้วย
4. โรคอหิวาตกโรค เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า Vibrio
อาการสำคัญ ได้แก่ ถ่ายอุจจาระคราวละมาก ๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง ไปจนกระทั่งมีการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว อาเจียนมาก และมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อย หายใจลึกผิดปกติ ชีพจรเต้นเบาเร็ว ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะช๊อค หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับ การรักษาทันท่วงที
5. โรคไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย
อาการสำคัญ ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องผูก หรือบางรายอาจท้องเสียได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เรื้อรังจะมีเชื้อปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็น ครั้งคราว ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นเป็นพาหะของโรคได้ ถ้าไปประกอบอาหารโดยไม่ล้างมือให้สะอาด หรือปรุงอาหารไม่สุก ก็จะทำให้เชื้อไทฟอยด์แพร่ไปสู่ผู้อื่นได้
แนวทางการป้องกันโรค
1. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร รับประทานอาหาร หรือก่อนเตรียมนมให้เด็ก และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ
2. ดื่ม น้ำที่สะอาด หรือน้ำต้มสุก และรับประทานอาหารที่สะอาด และสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
3. สำหรับ ผู้ประกอบอาหาร และพนักงานเสริฟอาหาร ควรหมั่นล้างมือก่อนจับต้องอาหารทุกครั้ง และดูแลรักษาความสะอาดภายในครัว หากมีอาการอุจจาระร่วง ควรหยุดปฏิบัติงานจนกว่าจะหายหรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ
โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ส่วนใหญ่พบในสุนัข แมว ค้างคาว ติดต่อได้ทั้งการโดนกัด ข่วน หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก หรือน้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก หรือจมูก ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการภายใน 15-60 วัน เมื่อ เป็นโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา ทำให้เสียชีวิตทุกรายภายใน 2-7 วัน หลังแสดงอาการ จึงต้องรีบให้วัคซีนทันทีเมื่อได้รับเชื้อ และแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบทันที เพื่อเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ หากถูกสัตว์กัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และฉีดวัคซีนป้องกัน
วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุด ก็คือ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง โดยเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรก เมื่อสุนัขอายุ 2-4 เดือน
คณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านปลอดภัยจากโรคที่มากับฤดูร้อน โดยยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่าย ๆ ได้แก่ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และ ล้างมือทุกครั้ง
ทีมา http://health.kapook.com/view22277.html